วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

  "สารคดี ตำนานเมืองทรอย"




ก่อนเกิดสงครามกรุงทรอย

๏ ทรอย (Troy) ตั้งชื่อตามกษัตริย์ ทรอส (Tros) ผู้เริ่มก่อตั้งนคร หรืออีกชื่อหนึ่งคือ อิเลียม (Ilium, Iliom) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อมหากาพย์อิเลียดนั้น ถูกเรียกตามกษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งทรอย เป็นบุตรของกษัตริย์ทรอส ชื่อว่า อิลัส (Ilus) ส่วนชาวเมืองทรอย มีชื่อเรียกว่า ชาวโทรจัน (Trojan)
๏ ทรอย ตั้งอยู่ในแคว้นโทรด (Troad) บนผืนแผ่นดินเอเชียน้อย หรือเอเชียไมเนอร์ ริมฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลอีเจี้ยน (Aegean) ทะเลที่กั้นกลางระหว่างดินแดนกรีซและเอเชียน้อย ตัวเมืองตั้งอยู่ลึกจากชายฝั่งทะเลเข้าไปในหุบเขาเป็นชัยภูมิที่มั่นคง แวดล้อมด้วยเนินเขาและแม่น้ำสองสาย
๏ ทรอย มีกำแพงเมืองล้อมรอบประกอบด้วยค่ายคูประตูหอรบและเชิงเทินอันแข็งแกร่ง เล่าว่า เมื่อครั้งกษัตริย์อิลัสเสริมสร้างป้อมปราการและกำแพงนครให้มั่งคงแข็งแรงนั้น พระองค์ได้รับเทวรูปศักดิ์สิทธิ์มาองค์หนึ่ง เป็นประติมากรรม
เทวีอาธีน่า (Athena) ซึ่งชาวโทรจันเชื่อว่าตราบใดที่เทวรูปนี้ยังอยู่ในนคร ทรอยจะไม่มีวันแตกได้ เทวรูปเทวีอาธีน่าจึงเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมืองทรอย
๏ ต่อมาท้าวเพรียม (Priam) หรือ
โพดาร์ซิส (Podarces) ได้ถูกสถาปนาเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งทรอย มีคู่ครองคือเฮกคิวบา (Hecuba) มีบุตรธิดาด้วยกัน 19 คน ผู้ที่ควรกล่าวถึงคือ เฮกเตอร์ (Hector) , ปารีส (Paris) , ไดโฟบัส (Deiphobus) , เฮลเลนัส (Helenus) , โพลิกซีนา (Polyxena) และคาสซันดรา (Cassandra)

๏ เมื่อราชินีเฮกคิวบาตั้งครรภ์ ได้ฝันบอกเหตุร้ายว่าบุตรจะเป็นผู้ก่อเหตุเดือดร้อนให้บ้านเมืองถึงคราวล่มสลาย กษัตริย์เพรียมจึงสั่งให้นำทารกไปสังหาร แต่เพราะโชคชะตา หรือความสงสาร ทารกได้ถูกทิ้งไว้บนเขาไอดา (Ida) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทรอย คนเลี้ยงแกะบริเวณนั้นนำทารกไปเลี้ยงจนเติบใหญ่เป็นหนุ่มรูปงาม ชื่อว่า ปารีส
๏ ปารีสได้เป็นผู้คุมฝูงแกะ และได้
อีโนนี (Oenone) เป็นภรรยา พร้อมทั้งให้กำเนิดบุตรกับปารีส ปารีสครองคู่กับอีโนนีด้วยความผาสุก จนกระทั่งวันหนึ่งปารีสติดตามคนเลี้ยงแกะเข้าสู่ทรอยซึ่งขณะนั้นมีงานฉลอง และมีการแข่งขันประลองฝีมือระหว่างบรรดาลูกเจ้านครและแม่ทัพนายกอง
๏ ปารีสซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงคนจรได้เข้าร่วมประลองฝีมือ ได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ปรากฏต่อหน้าบัลลังก์และผู้คนชาวโทรจัน จนชนะใจกษัตริย์เพรียมและปวงชน เมื่อได้ไล่เลียงถึงประวัติถึงได้รู้ว่าเป็นเจ้าชายคนหนึ่งแห่งทรอย
๏ ด้วยรูปโฉมที่งดงามและเพรียบพร้อมด้วยความสามารถ กษัตรย์เพรียมลืมคำพยากรณ์ไปเสียสนิท อีกทั้งยินดีปรีดิ์เปรมในตัวบุตรชาย ปารีสจึงได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งทรอยอย่างสมเกียรติ ได้เข้ามาเสวยสุขอยู่ในนคร จนลืมอีโนนีและลูกน้อย


๏ กษัตริย์เพรียมคิดถึงฮีไซโอนี (Hesione) น้องสาวที่พลัดพรากจากกันไป จึงได้แต่งตั้งให้ปารีสคุมขบวนเรือไปยังดินแดนกรีซ เพื่อไปรับตัวอาของปารีสลับสู่นครทรอย แต่ความมุ่งหมายของปารีส คือได้ยลโฉมเฮเลนแห่งนครสปาร์ตา เพราะได้ยินกิตติศัพท์ความงามที่สุดของสตรีผู้นี้
๏ สปาร์ตาในขณะนั้นอยู่ในความปกครองของเมเนเลอัส ซึ่งได้สืบวงศ์ต่อจากกษัตริย์ทินดารูส ทั้งกษัตริย์เมเนเลอัสและราชินีเฮเลน ต้อนรับอาคันตุกะหนุ่มรูปงามอย่างเอิกเกริกสมเกียรติเจ้าชายแห่งทรอย อีกทั้งเชื้อเชิญให้พำนักอาศัยอยู่ในราชวังในระหว่างเดินทางมาเยี่ยมเยียน
๏ ปารีส เมื่อเห็นเฮเลนที่งดงามหมดจด จึงเกิดความพิศวาสหลงรัก หลงใหลเฝ้าประสงค์ในความเป็นเจ้าของต่อเธอ จนลืมถึงไมตรีจิตที่เมเนเลอัสมอบให้โดยไม่ซื่อ อนิจจา! เหตุใดเล่า พระนางเฮเลนก็เช่นกัน พระนางต้องใจชายหนุ่มรูปงามผู้นี้ในครั้งแรกที่ได้พบด้วยความเสน่หา

๏ เมื่อกษัตริย์เมเนเลอัสมีกิจธุระต้องเดินทางข้ามทะเลไปยังเกาะครีต (Crete) ทิ้งเฮเลนไว้ลำพังในสปาร์ตา ด้วยอำนาจรักและใคร่ที่มิอาจหักห้ามใจได้ ปารีสได้ลักพาเฮเลนหนีลงเรือไปยังทรอยทันที ไม่ว่าเฮเลนจะสมยอมหรือไม่ กษัตริย์เพรียมได้รับรองเธอเป็นสะใภ้ด้วยความยินดี หรือเพื่อเป็นการทดแทนการกลับมาของฮีไซโอนีน้องสาวก็หารู้ได้


๏ ทางฝ่ายเมเนเลอัสเมื่อกลับจากครีต ได้ทราบข่าวก็เสียใจ โกรธแค้นปารีสยิ่งนัก ได้แต่งขบวนเรือรบพร้อมอาวุธเต็มอัตราเพื่อไปยังน่านน้ำแคว้นโทรด หมายจะรบพุ่งชิงตัวเฮเลนกลับคืน พร้อมกับประกาศร้องขอความช่วยเหลือไปตามแว่นแคว้น และนครใหญ่น้อย รวมทั้งพันธมิตรทั่วกรีก โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่กระทำสัตย์สาบานไว้


อ้างอิง http://waris42.exteen.com/20060715/entry
" สงครามเมืองทรอย และกลยุทธ์ม้าไม้บันลือโลก "


  สงครามเมืองทรอยเป็นเรื่องที่ถูกบันทึกเอาไว้ในมหากาพย์เรื่อง “อีเลียด” (Iliad) ของมหากวีนาม “โฮเมอร์” (ซึ่งเขาเป็นผู้ประพันธ์มหากาพย์อีกเรื่องคือโอดิสซีย์ (Odyssey) สำหรับคุณผู้อ่านที่สงสัยว่า ม้าไม้ยักษ์แห่งทรอยนั้นมีจริงหรือไม่ เรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถตอบฟันธงลงไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าไม่มีหลักฐานใดที่สามารถชี้ชัดได้

  แต่ถ้าจะถามว่าเมืองทรอยนั้นมีจริงหรือเปล่า ??? ตอบได้ชัดเลยว่ามีอยู่จริง !!! เพราะว่ามีการขุดค้นพบซากเมืองที่เชื่อกันว่าจะเป็นเมืองทรอย บริเวณที่ชื่อ ฮิซาร์ลิก ในเมืองคานัคเกล ทางตะวันตกของประเทศตุรกี ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 1,250 ปีก่อนคริสตกาล โดยเราสามารถเห็นซากกำแพงและหอคอยของเมืองทรอยได้ และปัจจุบันก็มีการสร้างม้าไม้จำลองขนาดยักษ์ขึ้นบริเวณซากเมืองทรอยอีกด้วย
ตำนานแห่งเมืองทรอย อันที่จริง ไม่ใช่จินตนิยาย

  แต่ที่จริงแล้ว ตามประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวกรีกนั้น ชาวกรีกเผ่าแรก ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไมซีนี่ คาบสมุทรกรีซ เมื่อประมาณ 1,500 ปี ก่อนคริสตกาล ต่อมาได้ขยายอำนาจข้ามทะเลไปยังฝั่งเอเชียไมเนอร์หรือ ดินแดนอะนาโตเลีย ซึ่งมีเมืองทรอยเป็นหน้าด่านสำคัญ เมื่อเกิดความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ จึงเกิดการสู้รบที่ยืดเยื้อหลายปี แต่ไม่ใช่เพราะชิงสาวงามเฮเลน ดังที่ปรากฏในมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์  จากการสู้รบในครั้งนั้น ชาวกรีกเผ่า อาเคียนจำนวนหนึ่ง ที่ถูกส่งมาทำสงครามกับเมืองทรอย จึงได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ใน ดินแดนอะนาโตเลียเสียเลย และก็มีชาวกรีกเผ่าอื่นๆ ตามมาทีหลังอีก เช่น เผ่าอีโอเลียน, ไอโอ-เนียน และคอเรียน เป็นต้น

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่า ปัจจุบัน ทำไมหนุ่มๆ สาวๆ ชาวตุรกีส่วนใหญ่ จึงทั้งหล่อและสวยกัน ทั้งนี้ก็เพราะมีเชื้อสาย “เทพบุตรกรีก” ปนอยู่ด้วยนั่นเอง..

  เมืองทรอยจึงมีอยู่จริง บนฝั่งทะเลใกล้ ๆ ปากช่องแคบดาร์ดะเนลส์ ที่แยกยุโรปกับเอเชียออกจากกัน เช่นเดียวกับช่องแคบบอสฟอรัสทางเหนือของทะเลมาร์มาร่า ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบ ให้ซากปรักหักพังทั้งหลาย ปรากฏต่อสายตาของคนรุ่นหลัง

แผนที่ จากกรีซไปก็เดินเรือไกลเหมือนกัน เป็นการใหญ่มากที่จะต้องยกเรือหลายพันลำ ข้ามไปฝั่งทวีปเอเชีย

  กลับมาเรื่องของสงครามกันบ้าง ใครจะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นแห่งสงครามที่ยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นเพราะแอปเปิลเพียงผลเดียว โดยจุดเริ่มต้นของสงครามนั้นเริ่มขึ้นเมื่อ เพเลอุส (กษัตริย์แห่งเมอมิดอนส์) และ เธติส (เทพีแห่งทะเล) ได้จัดงานอภิเษกสมรสขึ้น แต่ทั้งคู่กลับไม่ได้เชิญ อีริส (เทพีแห่งความขัดแย้ง) พระธิดาของเทพสูงสุด ซุส มาร่วมงานด้วย เพราะทั้งคู่เกรงว่านางจะทำให้งานมงคลนี้ต้องวุ่นวายได้ กระนั้น เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงหูของ เทพีอีริส เธอจึงรีบไปร่วมงานของทั้งคู่ทันทีด้วยความอาฆาตแค้น

  เมื่อไปถึงงาน เทพีอีริสจึงเริ่มแผนสร้างความแตกแยกขึ้น ด้วยการโยนแอปเปิลทองคำลงบนโต๊ะ พร้อมกับกล่าวว่า ลูกแอปเปิลทองคำนี้จะเป็นของผู้ที่งดงามที่สุดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เทพีเฮรา(มเหสีของเทพซุส) เอเธนา(เทพีแห่งปัญญา) และอโฟรไดต์ (เทพีแห่งความรัก) ซึ่งต่างคิดว่าตัวเองเป็นผู้ที่เลอโฉมที่สุดจึงแย่งกันเป็นเจ้าของแอปเปิลทองคำลูกนั้น พร้อมกับให้เทพซุสมาเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเทพซุสรู้ดีว่าการตัดสินของเขานั้นอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองได้ จึงโยนไปให้ เจ้าชายปารีส แห่งเมืองทรอย เป็นผู้ตัดสินแทน

  เมื่อรู้ว่าเจ้าชายปารีสจะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน เทพีเฮราจึงไปติดสินบนด้วยการสัญญาว่า จะช่วยให้เจ้าชายปารีสมีชัยเหนือกรีก ส่วนเทพีอาเธนาได้ไปสัญญาว่า จะช่วยให้เจ้าชายปารีสครอบครองแผ่นดินทั่วทั้งเอเชียและยุโรป ขณะที่เทพีอโฟรไดต์สัญญาว่า จะมอบหญิงผู้เลอโฉมที่สุดในแผ่นดินให้

  หลังจากได้ฟังข้อเสนอของทั้งสามแล้ว เจ้าชายปารีสเลือกที่จะตัดสินให้เทพีอโฟรไดต์เป็นผู้ที่งดงามที่สุด ต่อมาอโฟรไดต์ก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ด้วยการพาเจ้าชายปารีสไปพบหญิงผู้งดงามที่สุดซึ่งก็คือ เฮเลน ผู้เป็นธิดาแห่งเทพซุส ปัญหาก็คือ เฮเลนไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย แต่นางเป็นถึงมเหสีของ เมเนลอส เจ้าเมืองสปาร์ตา

  เมื่อไปถึงสปาร์ตา กษัตริย์เมเนลอสต้อนรับเจ้าชายปารีสเป็นอย่างดี แต่ในระหว่างที่เมเนลอสต้องออกจากเมืองเพื่อไปเยี่ยมกษัตริย์นอสซอส เจ้าชายปารีสจึงลงมือลักพาตัวเฮเลนกลับไปยังเมืองทรอย ก่อนจะจัดพิธีอภิเษกขึ้นในภายหลัง ครั้นเมื่อกลับมาและพบว่า พระมเหสีอันเป็นที่รักถูกลักพาตัวไป กษัตริย์เมเนลอสจึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งหลาย ร่วมกันส่งกองทัพไปยังเมืองทรอยเพื่อล้างแค้น

  กองทัพอันยิ่งใหญ่ของกรีกที่มีเรือกว่า 1,000 ลำนี้ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะไปถึงเมืองทรอยเนื่องจากไม่มีผู้ใดรู้ถึงที่ตั้งอันแน่ชัดของเมืองทรอย อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างกรีกและทรอยนั้นต้องใช้เวลาสู้รบกันยาวนานกว่า 10 ปีด้วยกัน เนื่องจากเมืองทรอยนั้นมีกำแพงเมืองที่แข็งแกร่งยากที่ผู้ใดจะทำลายได้ ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 9 ปีแรกของสงครามกองทัพกรีกจึงต้องไปโจมตีทำลายเมืองบริวารทั้งหลายของทรอยให้สิ้น เนื่องจากเมืองเหล่านี้คอยส่งอาหารและอาวุธต่างๆให้กับทรอย

  แม้จะทำลายเมืองบริวารจนหมดสิ้นแล้วก็ตาม กองทัพกรีกก็ยังไม่สามารถบุกเข้าไปในเมืองทรอยได้ จนทำให้เหล่านักรบกรีกเริ่มถอดใจ แต่ในยามที่สำคัญเช่นนี้ โอดิสซุสแม่ทัพผู้ปราดเปรื่องของกรีกก็คิดอุบายหนึ่งขึ้นมาได้ ซึ่งเขาสั่งให้สร้างม้าไม้ขนาดมโหฬารขึ้นมา และทำให้ด้านในของม้าไม้นี้กลวงเพื่อที่จะได้นำทหารของกรีกเข้าไปหลบอยู่ด้านใน

  เมื่อการสร้างม้าไม้เสร็จสิ้นแล้ว โอดิสซุสและกษัตริย์เมเนลอสพร้อมทหารแห่งกรีกจึงเข้าไปหลบซ่อนอยู่ภายในม้าไม้ที่สร้างขึ้น ก่อนจะสั่งให้เผาค่ายทิ้ง และให้ทหารแสร้งทำเป็นยกกองทัพเรือกลับไป แถมยังทิ้งทหารชื่อ ซินอน เอาไว้ที่เมืองทรอย เพื่อหลอกล่อให้ชาวทรอยหลงเชื่อ

  เมื่อชาวทรอยเห็นกองทัพกรีกถอนทัพไปจนหมดสิ้นแล้ว จึงพากันออกมาดูไม้ยักษ์ที่ตั้งตระหง่าน โดยซินอนได้หลอกชาวทรอยว่า เขานั้นถูกกองทัพกรีกทิ้งเอาไว้ให้หลงทางอยู่เพียงคนเดียว ส่วนม้าไม้นี้เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ และเป็นการขอบคุณเทพีอาเธนาที่คอยช่วยเหลือ ซึ่งม้าไม้ตัวนี้จะนำพาโชคลาภให้กับเมืองทรอยในกาลต่อไป

  ชาวทรอยนั้นต่างหลงเชื่อในคำพูดของซินอน และได้ลากม้าไม้ยักษ์นี้เข้าไปภายในเมือง พร้อมกับเฉลิมฉลองในชัยชนะกันอย่างยิ่งใหญ่ จนในคืนพระจันทร์เต็มดวงคืนนั้นเอง เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนชาวทรอยทั่วทั้งเมืองต่างเมาสุราและหมดสติกันแทบทั้งเมือง ซินอนที่รอคอยเวลานี้จึงได้ไปเปิดให้บรรดาทหารของกรีกออกมาจากม้าไม้ ก่อนจะไปเปิดประตูเมือง ให้กองทัพกรีกที่ยกทัพกลับมาเมืองทรอย พากันกรีธาทัพเข้ามา

  กองทัพกรีกจุดไฟเผาเมืองและสังหารชาวทรอยโดยเฉพาะผู้ชายไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อสงครามจบลง กรีกได้แบ่งบรรดาผู้หญิงชาวทรอยให้กับทหารและพันธมิตรต่างๆ นำไปเป็นทาส และนั่นก็คือวาระสุดท้ายของเมืองทรอยที่เคยยิ่งใหญ่

  ทั้งนี้ ในมหากาพย์เรื่อง โอดิสซีย์ ของโฮเมอร์นั้น ก็คือบันทึกเรื่องราวการเดินทางกลับยังมาตุภูมิของ แม่ทัพโอดิสซุส ผู้คิดสร้างม้าไม้เมืองทรอย ภายหลังจากเสร็จสิ้นสงครามเมืองทรอยแล้วนั่นเอง ซึ่งการเดินทางกลับไปยังแผ่นดินเกิดครั้งนี้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆมากมาย ทำให้ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี

  และนี่ก็คือเรื่องราวอัศจรรย์ ที่อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนาน หรืออาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าม้าไม้เมืองทรอยจะมีอยู่จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวทั้งหมดกลับมีคุณค่าน่าเรียนรู้ยิ่งนัก ขึ้นอยู่กับว่าคุณผู้อ่านจะเก็บบทเรียนอะไรจากเรื่องนี้ไปได้บ้างเท่านั้นเอง

อ้างอิง http://www.oknation.net/blog/print.php?id=233766